ประกันสังคม มาตรา 33 สิทธิประโยชน์ 2566 สรุปครบจบทุกอย่าง
ฉบับย่อ
- ประกันสังคม มาตรา 33 คือ ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม แต่ละเดือน ในอัตรา 5%
- นายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการสมัครประกันสังคมออนไลน์ให้กับพนักงานและลูกจ้างเอง
- นายจ้างจะดำเนินการหัก 5% ของค่าจ้างเราอัตโนมัติ
- ผู้ประกันมาตรา 33 สิ้นสุดลง คือ ผู้ประกันตนตาย และ ลาออกจากงาน
- สิทธิประโยชน์ของ แบ่งเป์น 2 แบบ คือ 1. ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี 2. สามารถลดหย่อนภาษีได้
ประกันสังคมมาตรา 33 หรือ ม.33 เป็นประกันสังคมสำหรับลูกจ้าง โดยการนำส่งประกันสังคมชนิดนี้ จะหักจากเงินเดือนทุกเดือน เดือนละ 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท หักเราไปทุกเดือนขนาดนี้ จะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง แล้วเราจะได้รับประโยชน์ยังไง วันนี้ ดาร์เลเน่สหคลินิก จะพาไปดูกัน
ประกันสังคม มาตรา 33 คืออะไร
ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งโดยปกติต้องส่งเงินสมทบประกันสังคม แต่ละเดือน ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง และนายจ้างจะสมทบเพิ่ม 5% รัฐบาลสมทบเพิ่ม 2.75% เช่นกัน
ประกันสังคม มาตรา 33 จ่ายเงินเท่าไหร่
วิธีคิดการจ่ายเงินประสังคมใน ม.33 จะนำ 5% ไปคูณกับรายได้ต่อเดือนที่เราได้ และนายจ้างก็จะหักจากเงินเดือนเราไปอัตโนมัติ แต่การหักเงินนำส่งประกันสังคมจะหักไม่เกิน 750 บาท ฉะนั้นผู้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาทจะยังคงโดนหักสูงสุดที่ 750 บาทนั่นเอง
การสมัคร ประกันสังคมมาตรา 33
นายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการสมัครประกันสังคมออนไลน์ให้กับพนักงานและลูกจ้างเอง
ประกันสังคมมาตรา 33 งบสมทบ จ่ายที่ไหน
นายจ้างจะดำเนินการหัก 5% ของค่าจ้างเราอัตโนมัติ โดยนายจ้างจะสามารถหักแล้วนำส่งไปยังสำนักงานประกันสังคมทางธนาคาร หรือ เดินทางไปจ่ายยังสำนักงานประกันสังคมก็ได้
หรือวิธีที่สะดวกกว่านั้น คือ บริการชำระเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะทำการหักบัญชีบริษัท และโอนเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแบบออนไลน์นั่นเอง
ผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 สิ้นสุดลง ยังไง ?
- ผู้ประกันตนตาย
- ลาออกจากงาน
การหยุดส่ง “ไม่ได้ทำให้สถานะผู้ประกันตนมาตรา 33 สิ้นสุด” แต่คงอยู่ และกลับมาสะสมเมื่อ ผู้ประกันตนกลับมาส่งเหมือนเดิม หรือพูดง่าย ๆ คือ มีงานทำใหม่ และนายจ้างเริ่มหักเงินสมทบกับเงินเดือนนั่นเอง
สิทธิประกันสังคมมาตรา 33
แล้วรู้หรือไม่ว่าหากเราส่งประกันสังคมมาตรา 33 ทุกเดือนต่อเนื่อง ๆ แบบนี้เราจะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง หลัก ๆ แล้วแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี
- สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยเราสามารถกรอกตัวเลขยอดรวมเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปตลอดทั้งปี ตอนที่เรายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมได้
1. ประกันสังคม ม. 33 ว่างงาน ตกงาน ได้กี่บาท
เงื่อนไขการได้รับเงินชดเชยว่างงานคือ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน และต้องรายงานตัวที่ e-Service กรมจัดหางาน ภายใน 2 ปีนับแต่ว่างงาน จะได้รับเงินชดเชยประกันสังคม ดังนี้
กรณีที่ 1 : ถูกเลิกจ้างหรือหมดสัญญาจ้างงาน ได้เงินกี่บาท
จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน ต่อรอบใน 1 ปี
กรณีที่ 2 : ลาออกจากงาน ได้เงินกี่บาท
ตัวผู้ประกันตนได้ลาออกจากงานด้วยตัวเอง ทางประกันสังคมได้ระบุข้อมูลไว้ว่า ผู้ประกันตนนั้นจะได้รับเงินชดเชย 30% (น้อยกว่ากรณีที่ 1) ของค่าจ้างเฉลี่ยแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน ต่อรอบใน 1 ปี
เลิกจ้างกับลาออก ประกันสังคมให้อัตราไม่เท่ากันเพราะอะไร ?
- การลาออกจากงาน คือ ตัวพนักงานเป็นฝ่ายที่เลือกลาออกกับองค์กรนั้น ๆ เอง
- การถูกเลิกจ้างหรือหมดสัญญาจ้างงาน คือ องค์กรเป็นฝ่ายตัดสินใจยุติการว่าจ้างงานพนักงานคนนั้น
วิธีการคำนวณเงินชดเชยว่างาน ม.33
สูตรการคำนวณเงินชดเชยว่างงาน คือ
((ค่าจ้างที่ได้ ✕ อัตราเงินทดแทน) ✕ จำนวนวันสูงสุด) ÷ 30 = จำนวนเงินชดเชยสูงสุด
ตัวอย่าง
- กรณีลาออก ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท แต่สูงสุดที่ประกันสังคมให้คือไม่เกิน 15,000 บาท
(15,000 ✕ 30% (อัตราเงินทดแทน) ✕ 90 วัน) ÷ 30 วัน = 13,500 บาท เป็นจำนวนเงินชดเชยสูงสุด
คิดเป็นวันละ 150 บาท (13,500 ÷ 90) - กรณีโดนไล่ออก ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท แต่สูงสุดที่ประกันสังคมให้คือไม่เกิน 15,000 บาท
(15,000 ✕ 50% (อัตราเงินทดแทน) ✕ 180 วัน) ÷ 30 วัน = 45,000 บาท เป็นจำนวนเงินชดเชยสูงสุด
คิดเป็นวันละ 250 บาท (45,000 ÷ 180)
2. ประกันสังคมมาตรา 33 กรณีเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยแบบปกติและฉุกเฉิน
การเจ็บป่วยแบบปกติ สิทธิประโยชน์ในสถานพยาบาลตามสิทธิ ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่เจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษา พยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน รวมทั้งค่าตรวจสุขภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพ
ข้อยกเว้นกรณีเจ็บป่วยที่เบิกใม่ใด้ เช่น ห้องพิเศษ แพทย์พิเศษ หรือ ค่าโทรศัพท์
สิทธิรับเงินทดแทน
- หากแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว สามารถขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง
- ถ้าป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วัน บริการทางการแพทย์ และในหนึ่งปีปฏิทินไม่เกิน 180 วันต่อปี
ส่วนการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุ ทางประกันสังคมเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เท่าที่จ่ายจริง แบ่งเป็นกรณีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งเบิกได้ต่างกัน
กรณีทันตกรรม
ผู้ประกันตนสามารถทำฟันได้ในสถานพยาบาลที่รองรับสิทธิประกันสังคม โดยได้รับสิทธิประโยชน์คือ
- ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาทต่อครั้งต่อปี
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
- กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมนั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่เข้าร่วมโครงการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย ดังนั้น หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลแห่งนี้ ก็จะไม่ต้องนำเอกสารต่าง ๆ มายื่นขอรับเงินคืนอีก ซึ่งสามารถตรวจสอบรายได้สถานพยาบาลทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม
3. คลอดบุตร
ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอดมีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนคร้ัง ดังนี้
ผู้ประกันตนหญิง
- ผู้ประกันตนหญิงสามารถคลอดบุตรที่สถานพยาบาลใดก็ได้ แล้วนำสำเนาสูติบัตรของบุตร บัตรประจำตัวประชาชนมายื่นเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมจะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท
- ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน
- หมายเหตุ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เบิกได้ไม่เกิน 2 คร้ัง
ผู้ประกันตนชาย
- ผู้ประกันตนชายที่มีภรรยา จดทะเบียนสมรส หรือหญิงซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้
- โดยใช้ 1.สำเนาสูติบัตรของบุตร 2. สำเนาทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองกรณีไม่มีทะเบียนสมรส ยื่นกับสำนักงานประกันสังคม
- โดยจะได้รับเฉพาะเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท (ไม่ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร)
ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
- อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
- อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
4. สงเคราะห์บุตร หรือ ค่าเลี้ยงดูลูก สำหรับประกันสังคมมาตรา 33
- ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- โดยจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท/บุตร 1 คน/เดือน คราวละไม่เกิน 3 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ บุตรดังกล่าวต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
- กรณีได้รับมติเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ให้ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรต่อไปจนบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
5. พิการ หรือ ทุพพลภาพ
- กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิต
- ส่วนค่าบริการทางการแพทย์ จะแบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ จะสามารถใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ เอกชนจะได้รับค่าบริการทางแพทย์สูงสุด เดือนละ 2,000 – 4,000 บาท
6. ชราภาพ
เงินบำเหน็จชราภาพ เป็นการจ่ายเงินก้อนครั้งเดียว โดยกำหนดไว้ดังนี้
- กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
- กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1 – 11 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว
- กรณีจ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนดสูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ
- กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 – 179 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตน + เงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน
เงินบำนาญชราภาพ เงินบำนาญชราภาพ เป็นเงินที่จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต
-
- โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนส้ินสุดลง
- โดยกรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลา การจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ = ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x 20% (+ จำนวน % ที่เพิ่มให้อีกปีละ 1.5%)
- กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
7. หากผู้ประกันตนใน ประกันสังคมมาตรา 33 เสียชีวิต
ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย มีสิทธิดังนี้
- ค่าทำศพ 50,000 บาท
- เงินสงเคราะห์
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบต้ังแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
- เงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายให้แก่ทายาทตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
เช็คเงินประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงสถานะ
การเช็คสิทธิประกันสังคมในปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ด้วยเลขบัตรประชาชนได้แล้ว คือ
1. เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
กรอกรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน หลังจากนั้นคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ” หน้าเว็บไซต์ประกันสังคมจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตนว่าเป็นผู้ประกันตนมาตราอะไร เลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกดูข้อมูลต่าง ๆ ได้เลย
2. แอปพลิเคชัน SSO Connect
ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประชาชนพร้อมรหัสผ่าน และคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ (Login)
แอปพลิเคชันประกันสังคม SSO Connect จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกันตน เช่น ชื่อและนามสกุล โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ยอดเงินสมทบชราภาพ และสิทธิทำฟันประกันสังคม โดยด้านล่างผู้ประกันสามารถเลือกเช็คสิทธิประกันสังคมที่ต้องการทราบได้เลย
3. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เกี่ยวกับ ประกันสังคม ได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
มีประกันสังคมต้องการมาใช้สิทธิ์ประกันสังคมที่ ดาร์เลเน่สหคลินิก
ตั้งอยู่ที่ : 496/21 ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
หรือโทรสอบถามได้ที่เบอร์ 066-093-2666
Leave a Reply